หลวงพ่ออโนทัย วัดจันทาราม

ข้อมูลรูปที่เกี่ยวข้อง

 

หลวงพ่ออโนทัยพระประธานในวิหารหลวงพ่ออโนทัย วัดจันทาราม 

หรือวัดหนองตะแคง ต.หนองอ้อ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี

"หลวงพ่ออโนทัย" เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองราชบุรี และเป็นที่เคารพเลื่อมใสของชาวบ้านในพื้นที่ อ.บ้านโป่ง เป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งยังมีความศักดิ์สิทธิ์และปรากฏการณ์ที่สืบสานกันมาช้านาน ปัจจุบันประดิษฐานเป็นองค์พระประธานในวิหารหลวงพ่ออโนทัย ณ วัดจันทาราม จ.ราชบุรี

วัดจันทาราม แต่เดิมชื่อว่า วัดหนองตะแคง ซึ่งชาวบ้านเรียกตามชื่อหมู่บ้าน ตั้งอยู่เลขที่ 119 หมู่ที่ 10 ติดถนนเพชรเกษม บ้านหนองตะแคง ต.หนองอ้อ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ประวัติการสร้างวัดไม่มีการบันทึกไว้อย่างเป็นทางการ เพียงแต่มีการเล่าขานสืบต่อกันมาว่า สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2450 ในบริเวณละแวกบ้านหนองตะแคง อยู่ในซอยบ้านบางตาล ต่อมา พระครูชนัตยาภิรัตน์ เจ้าคณะอำเภอบ้านโป่ง ในขณะนั้น เห็นว่าวัดอยู่ในซอยลึกไม่สะดวกแก่สาธุชนที่จะเข้าไปบำเพ็ญกุศล ทั้งยังมีเนื้อที่คับแคบ จึงได้หารือเจ้าอาวาสและชาวบ้าน ทุกฝ่ายต่างก็เห็นชอบที่จะขนย้ายมาสร้างวัดแห่งใหม่ในสถานที่ปัจจุบัน และให้ชื่อว่า "วัดจันทาราม" เมื่อปี พ.ศ.2473 

ส่วนพระพุทธรูป "หลวงพ่ออโนทัย" ประวัติความเป็นมานั้นก็ไม่มีการบันทึกวัน-เวลาในการสร้างไว้อย่างแน่ชัด แต่มีการเล่าสืบต่อกันมาว่า เดิมที่วัดนางโน ต.ม่วงชุม อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี (ปัจจุบันคือ วัดมโนธรรมาราม) ได้มีพระพุทธรูปจำนวน 3 องค์ปรากฏขึ้นที่บริเวณริมแม่น้ำหน้าวัด และหนึ่งในพระพุทธรูปนั้นได้มาเข้าฝันชาวบ้านหนองตะแคงว่าต้องการมาประดิษฐานอยู่ที่วัดจันทาราม

จากนั้นพระอาจารย์แดง เหล็กดี เจ้าอาวาสวัดจันทารามในขณะนั้น พร้อมทั้งชาวบ้านได้พากันเดินทางไปนิมนต์หลวงพ่ออโนทัย เมื่อไปถึงปรากฏชาวบ้านอีกหลายหมู่บ้านที่ทราบข่าว ต่างก็มาอัญเชิญหลวงพ่ออโนทัย เพื่อนำไปประดิษฐานยังหมู่บ้านของตนเช่นกัน แต่ก็ไม่สามารถที่จะยกองค์หลวงพ่ออโนทัยขึ้นจากน้ำได้ 

พระอาจารย์แดง ได้จุดธูปพร้อมตั้งจิตอธิฐานว่า "ถ้าหากหลวงพ่ออยากไปอยู่ที่วัดจันทารามจริงดังที่เข้าฝันชาวบ้าน ก็ขอให้ยกท่านขึ้นได้" และเหมือนปาฏิหาริย์ชาวบ้านสามารถที่จะยกองค์หลวงพ่อขึ้นมาจากน้ำโดยไม่ยากเย็น จากนั้นจึงนิมนต์พระพุทธรูปดังกล่าวเดินทางกลับวัดโดยใช้แพล่องมาตามลำน้ำแม่กลอง และนำมาขึ้นเกวียนที่บริเวณบ้านหลวงสิทธิ์เทพการ และเมื่อเดินทางมาถึงที่บริเวณหน้าวัด ล้อเกวียนที่่ใช้ขนส่งพระพุทธรูปเกิดหัก ชาวบ้านเชื่อว่าพระพุทธรูปนี้ต้องการจะประดิษฐานอยู่ที่วัดจันทารามแห่งนี้จริงๆ 

ลุงสุพจน์ ใจมั่น อายุ 55 ปี ประชาสัมพันธ์วัดจันทาราม เป็นอีกผู้หนึ่งที่ทราบเรื่องเล่าขานของหลวงพ่ออโนทัย ว่า หลวงพ่ออโนทัย เป็นพระพุทธรูปแบบสมัยอยุธยาตอนต้น แต่เดิมองค์หลวงพ่อเป็นเนื้อศิลาแลง ไม่มีใครรู้ว่าหลวงพ่อมีชื่อว่าอะไร ชาวบ้านจึงขนานนามกันว่า พระเทพนิมิตร โดยเริ่มแรกชาวบ้านได้ประดิษฐานไว้ภายในอุโบสถ (บริเวณเมรุในปัจจุบัน) คู่กับหลวงพ่อขาว ต่อมาได้ย้ายไปประดิษฐานไว้ ณ ศาลใต้ต้นตะคร้อด้านหน้าวัด (บริเวณน้ำพุในปัจจุบัน) เพื่อชาวบ้านจะได้กราบไหว้บูชาง่ายขึ้น 

แม้จะมีขโมยแอบมาโจรกรรมองค์พระพุทธรูปและตู้บริจาคเงินหลายครั้ง แต่ก็ไม่สามารถที่จะนำเอาออกไปจากเขตรั้ววัดได้เลยแม้แต่ครั้งเดียว ในสมัย พระครูพิศาลธรรมาภรณ์ (สมจิต ทีปธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดจันทารามรูปปัจจุบัน ท่านได้ร่วมกับญาติโยมชาวบ้านสร้างวิหารหลวงพ่อ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534 โดยได้อัญเชิญ หลวงพ่อพระเทพนิมิต, หลวงพ่อขาว และรูปหล่อเหมือนหลวงพ่อเงิน อุตฺตโม ฯลฯ มาประดิษฐานอยู่ภายในด้วยกัน ต่อมามีซินแสเป็นชาวจีนในร่างทรงของเจ้าพ่อเสือ ได้มาเข้าทรงและเปิดเผยว่าอันที่จริงแล้วหลวงพ่อพระเทพนิมิตนี้ มีชื่อว่า หลวงพ่ออโนทัย ดังนั้น ชาวบ้านหนองตะแคงจึงได้ตั้งชื่อวิหารดังกล่าวว่า "วิหารหลวงพ่ออโนทัย"และเรียกชื่อองค์พระพุทธรูปว่า "หลวงพ่ออโนทัย" นับแต่นั้นเป็นต้นมา 

ชาวบ้านเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่ออโนทัย ที่ปรากฏอยู่มีหลากหลายเรื่อง ทั้งด้านธุรกิจค้าขาย การเจ็บป่วย การเรียน การสมัครงาน อีกทั้งเรื่องคู่รักคู่ครอง สร้างความเคารพศรัทธาให้แก่ชาวบ้านเป็นอย่างมาก โดยต่างมากราบไหว้บนบานอธิษฐานหลวงพ่ออโนทัยให้สัมฤทธิผลดังที่ใจหมาย เมื่อได้ผลสำเร็จดังที่ตั้งใจไว้แล้ว สำหรับสิ่งของแก้บนนั้น นอกจากจะเป็นไข่ต้ม ผลไม้ต่างๆ แล้ว ที่จะขาดเสียมิได้คือ การฉายหนังกลางแปลงแก้บน เรียกได้ว่าแทบจะทุกคืน เป็นที่เคยชินของชาวบ้านหนองตะแคงไปเสียแล้ว ถ้าคืนไหนไม่ได้ยินเสียงไม่มีการฉายหนัง คล้ายกับว่าขาดสิ่งใดไปบางประการ จนปัจจุบันมีเครื่องฉายหนังอยู่ด้านข้างหน้าวิหารหลวงพ่ออโนทัยตลอดเวลา เรียกว่ามีคนมาแก้บนเกือบทุกวัน บางวันก็มีหลายจอ ใครอยากชมหนังฟรีเชิญวัดนี้ได้