วัดจันทาราม

ข้อมูลรูปที่เกี่ยวข้อง

วัดจันทาราม

        ประวัติความเป็นมาของวัดจันทาราม แต่เดิมมีการเล่าขานสืบต่อกันมาปากต่อปาก แต่ยังไม่มีการบันทึกไว้อย่างเป็นทางการ ต่อมาเมื่ออุโบสถหลังเก่าประสบอัคคีภัยและมีการก่อสร้างอุโบสถขึ้นใหม่ คณะกรรมการวัด คณะสงฆ์ และชาวบ้านได้กำหนดงานผูกพัทธสีมาขึ้นระหว่างวันที่ 12-20 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2526 โดยมีการจัดพิมพ์หนังสือจัดงานขึ้น และได้จัดพิมพ์ประวัติวัดจันทารามไว้ในหนังสือดังกล่าวด้วย จึงปรากฎประวัติวัดจันทารามเป็นลายลักษณ์อักษรตั้งแต่นั้นมา ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้

        วัดจันทาราม เดิมชื่อวัดหนองตะแคง ซึ่งชาวบ้านเรียกตามชื่อหมู่บ้านหนองตะแคง ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ถนนเพชรเกษม หมู่ที่10 ตำบลหนองอ้อ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ระยะทางห่างจากที่ว่าการอำเภอบ้านโป่งประมาณ 8 กิโลเมตร ห่างจากตัวเมืองนครปฐมประมาณ 12 กิโลเมตรแต่ก่อนชาวบ้านหนองตะแคงต้องไปทำบุญและประกอบศาสนกิจที่วัดหนองกบ ตำบลหนองกบ อำเภอบ้านโป่ง ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2450 พระภิกษุเภา ศรีนวล จำพรรษาอยู่ที่วัดหนองกบได้ปรึกษาหารือกับชาวบ้านและมีมติเห็นพ้องต้องกันที่จะสร้างวัดขึ้นใหม่ในละแวกบ้านหนองตะแคง และได้ร่วมกันดำเนินการสร้างวัดขึ้นในที่ดินของแม่เฒ่าจันทา กัณหา ซึ่งมีศรัทธาบริจาคที่ดินที่อยู่ติดกับถนนซอยบางตาล จำนวน 12 ไร่เศษ ให้เป็นธรณีสงฆ์ เรียกชื่อว่า “วัดหนองตะแคง” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา (ปัจจุบันเรียกที่แห่งนั้นว่าวัดเก่า)

        ต่อมาพระภิกษุเภา ศรีนวลได้ลาสิกขาบท ชาวบ้านจึงนิมนต์พระอาจารย์แดง เหล็กดี จากวัดหนองอ้อ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรีมาเป็นเจ้าอาวาส พระครูขนัตยาภิรัติ เจ้าคณะอำเภอบ้านโป่งในขณะนั้นเห้นว่าวัดนี้ตั้งอยู่ในซอยลึกไม่สะดวกแก่สาธุชนที่จะเข้าไปบำเพ็ญกุศล ทั้งยังมีเนื้อที่คับแคบไม่สามารถขยายอาณาเขตและสร้างเสนาสนะอันจำเป็นต่อศาสนกิจของพระภิกษุสงฆ์ พระอาจารย์แดง เหล็กดีและชาวบ้านเห็นชอบด้วยจึงได้ทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างมาสร้างใหม่ในสถานที่ปัจจุบันนี้เมื่อพ.ศ.2473 โดยสร้างบนที่ดินของนายโฮก และนางเรือน ใจมั่น ซึ่งบริจาคเป็นธรณีสงฆ์จำนวน 17 ไร่เศษ เมื่อดำเนินการสร้างวัดเสร็จพระครูขนัตยาภิรัติ ได้เปลี่ยนชื่อวัดให้ใหม่ว่า “วัดจันทาราม” พระอาจารย์แดง เหล็กดี ได้นำพาชาวบ้านสร้างอุโบสถเสร็จเมื่อพ.ศ.2477 และให้มีโรงเรียนโดยใช้ศาลาการเปรียญเป็นห้องเรียน หลังจากนั้นพระอาจารย์แดง เหล็กดีได้ลาสิกขาบทเจ้าคณะอำเภอบ้านโป่งในขณะนั้น (พระมหาสนิท เขมจาโร) ได้แต่งตั้งให้พระภิกษุบุญมา ศรีนวล เป็นเจ้าอาวาสรูปที่3 ซึ่งได้นำพาชาวบ้านดำเนินการสร้างศาลาการเปรียญไม้ 1 หลัง ปัจจุบันได้รับการเคลื่อนย้ายไปปรับปรุงสร้างขึ้นใหม่ ในพื้นที่แห่งใหม่ ชาวบ้านตั้งชื่อว่า ศาลาศรีสุธรรมมา (ประชาสามัคคี) .ต่อมาเป็นเวลาประมาณ 15 ปีพระภิกษุบุญมาได้ลาสิกขาบท เจ้าคณะอำเภอบ้านโป่ง (พระครูวิจิตร ธรรมรส) ได้แต่งตั้งให้พระภิกษุธีระ ทีปธมโม ในขณะนั้นเป็นเจ้าอาวาสรูปที่4 ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูพิทักษ์ธีรธรรม ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลหนองอ้อ-หนองกบ และได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ และได้ลาสิกขาบทเมื่อพ.ศ.2504 เจ้าอาวาสรูปต่อมา(รูปที่5) คือ พระอธิการเงิน อุตตโม ซึ่งเมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2505 อุโบสถได้ประสบอัคคีภัยได้รับความเสียหายมาก ไม่สามารถที่จะใช้บำเพ็ญศาสนกิจต่อไปได้ พระอธิการเงิน อุตตโมจึงนำพาชาวบ้านดำเนินการก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้นในปีเดียวกัน และได้ก่อสร้างกุฏิ 4 หลัง ศาลาการเปรียญ 1 หลัง (ศาลาหลวงพ่อเงินอุตตโมอนุสรณ์) ต่อมาพระอธิการเงิน อุตตโมได้มรณภาพเมื่อ วันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2523 พระภิกษุสมจิตร ทีปธัมโม ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส (รูปที่6) ปัจจุบันได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูพิศาล ธรรมาภรณ์ โดยได้นำพาชาวบ้านในท้องถิ่นพัฒนาวัดอย่างต่อเนื่อง มีการพัฒนาบริเวณวัด เสนาสนะ เช่นอุโบสถ วิหาร หลวงพ่ออโนทัย หอระฆัง ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ ศาลาสวดพระอภิธรรม ฌาปนกิจสถาน โรงครัว ซึ่งจำเป็นต่อการประกอบศาสนกิจและการศึกษาอบรม เผยแผ่พุทธศาสนาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

หมายเหตุ ในประวัตินี้ได้มีการเพิ่มเติมชื่อของเสนาสนะเพื่อให้สอดคล้องกับปัจจุบัน

        พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ประดิษฐานอยู่คู่กับวัดจันทารามตลอดมาคือ “หลวงพ่ออโนทัย”เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดนางโน (ปัจจุบันคือวัดมโนธรรมาราม(นางโน)) อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ที่ก่อสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น ประวัติความเป้นมานั้นไม่มีการบันทึกวันเวลาไว้แน่ชัด แต่มีการเล่าสืบต่อกันมาว่าหลวงพ่ออโนทัยมาเข้าฝันชาวบ้านว่าอยากมาอยู่วัดจันทาราม อาจารย์แดงและคุณตาเพ็ง ขอนแก่น พร้อมชาวบ้านหนองตะแคง 10 คนเศษ จึงพากันเดินทางไปนิมนต์หลวงพ่ออโนทัย เมื่อไปถึงปรากฏว่าได้มีชาวบ้านจากหมู่บ้านอื่นกำลังยกหลวงพ่อเพื่อนำไปหมู่บ้านของเขาแต่ยกไม่ขึ้นจนเชือกที่มัดหลวงพ่อขาดหมดไม่สามารถนำหลวงพ่อไปได้ ชาวบ้านหนองตะแคงจึงได้จุดธูป 1 ดอกตั้งจิตอธิษฐานถ้าหากหลวงพ่ออยากไปอยู่ที่วัดจันทารามจริงดังที่เข้าฝันก็ขอให้ยกท่านขึ้น ก็สามารถยกขึ้น ในสมัยนั้นการเดินทางต้องใช้แพชาวบ้านจึงนำหลวงพ่อลงแพล่องตามน้ำมาขึ้นที่โรงเลื่อยของหลวงสิทธิ์ เทพการ และขึ้นรถบรรทุกมาประดิษฐานที่วัดจันทารามจนถึงปัจจุบัน โดยประดิษฐาน ณ“วิหารหลวงพ่ออโนทัย” โดยมีพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งประดิษฐานอยู่คู่กันคือ หลวงพ่อขาว รวมทั้งหลวงพ่ออโนทัยองค์จำลอง ที่ได้จัดสร้างขึ้นภายหลัง และรูปหล่อของหลวงพ่อเงิน อุตตโม ทั้งนี้ทางวัดจะจัดงานปิดทองประจำปีหลวงพ่ออโนทัย หลวงพ่อขาว หลวงพ่อเงิน ในเดือนมกราคม ซึ่งตรงกับเทศกาลตรุษจีนของทุกปี